Powered By Blogger

กระเจี๊ยบมอญ กระเจี๊ยบเขียว

กระเจี๊ยบมอญ

ชื่อภาษาอังกฤษ ☼ Lady’s Finger, Okra
ชื่อวิทยาศาสตร์ ☼ Abelmoschus esculentus (L.) Moench
วงศ์ ☼ Malvaceae
ชื่ออื่น ☼ กระเจี๊ยบขาว มะเขือมอญ มะเขือทวาย มะเขือพม่า



ลักษณะ
เป็นไม้ล้มลุกอายุประมาณ 1 ปี ลำต้นสูงราว 2 เมตร เป็นพุ่มเตี้ย มีกิ่งก้านเล็ก ใบเดี่ยวขนาดใหญ่ สีเขียว แผ่นใบเว้าแฉกลึก มีขอบหยักหลายแบบ ก้านใบยาวสีเขียว มีขนปกคลุม มีดอกเดี่ยวขนาดใหญ่สีเหลือง ออกดอกสวยงามอยู่ตรงซอกใบ ใจกลางดอกเป็นสีม่วง บานสะพรั่งเต็มต้น ผลเป็นเหลี่ยมยาวรีสีเขียว ปลายแหลม ฝักยาว 3 – 6 นิ้ว
การปลูกกระเจี๊ยบควรทำในปลายฤดูฝนซึ่งมีฝนตกอยู่บ้าง ดินที่ปลูกควรเป็นดินร่วน ใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกที่ก้นหลุม หยอดเมล็ดพันธุ์ลงไป 3-5 เมล็ดต่อหลุม กลบดินรดน้ำให้ชุ่มในช่วงแรก ประมาณ 3-4 สัปดาห์ จะมีต้นกล้าให้เลือก ถอนต้นที่ไม่แข็งแรงออกไป เหลือไว้เพียง 1-2 ต้นต่อหลุม ระวังเพลี้ยจักจั่นมารบกวน

การปลูก           
  กระเจี๊ยบเขียวสามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี  แต่ในฤดูหนาวจะให้ผลผลิตที่ต่ำเนื่องจากอุณหภูมิที่ต่ำ ทำให้ต้นเตี้ย แคระแกรน ออกดอกไว  การเตรียมดินควรไถพลิกหน้าดินทิ้งไว้ประมาณ 2 สัปดาห์ และเพิ่มอินทรีย์วัตถุในดินโดยการใส่ปุ๋ยคอกอัตรา 1,500 กิโลกรัมต่อไร่ หรือหว่านพืชตระกูลถั่วปล่อยทิ้งไว้จนออกดอกแล้วจึงทำการไถกลบ การปลูก ในฤดูฝนและฤดูแล้งใช้ระยะปลูก 50 x  50 เซนติเมตร  (6,400 หลุมต่อไร่) คลุกเมล็ดด้วย สารเคมีไอโปรไดโอน 50% wp อัตรา 60 กรัมต่อเมล็ดพันธุ์ 1  กิโลกรัม เพื่อป้องกันโรคที่ติดมากับเมล็ดพันธุ์  หยอดเมล็ดหลุมละ 3-4 เมล็ด ถอนแยกเมื่ออายุได้ 30 วัน ให้เหลือจำนวนหลุมละ 2 ต้น

การดูแลรักษา
                หลังปลูก  15 – 20 วันควรใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 20 กิโลกรัมต่อไร่ ใส่ทุก 20 วัน
 โรคที่สำคัญ ได้แก่ โรคใบจุด โรคแอนแทรคโนส  เมื่อปรากฏโรคควรฉีดป้องกันด้วยเชื้อบาซิลลัส (BT) ฉีดพ่นในอัตรา 30 -50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร  หรือใช้สารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา  แมนโคเซป หรือ ไธอะเบนดาโซล ฉีดพ่นตามฉลากแนะนำ  ส่วนโรคเส้นใบเหลือง  ที่มีแมลงหวี่ขาวเป็นพาหะนำโรคไวรัส ฉีดพ่นด้วย คาร์โบซัลแฟน หรือ ฟิโปรนิล
  แมลงศัตรูที่สำคัญ  ได้แก่ หนอนกระทู้หอม หนอนเจาะสมอฝ้าย เพลี้ยไฟ  เพลี้ยอ่อน  เพลี้ยจั๊กจั่นฝ้าย ให้ฉีดพ่นด้วยเชื้อบาซิลลัส (BT) ฉีดพ่นในอัตรา 60 - 80 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร  หรือใช้สารสกัดธรรมชาติ เช่น สารสกัดจากสะเดา ฉีดพ่นในอัตรา  60 – 80  ซีซี ต่อนำ 20 ลิตร ฉีดพ่น ทุก ๆ 7 วัน และอาจใช้การจัดการเกษตรที่ดีเข้าช่วยด้วยการปล่อยแมลงศัตรูธรรมชาติของแมลงศัตรูพืช

การเก็บเกี่ยว
เก็บเกี่ยวได้เมื่ออายุ 45 - 50 วัน ระยะเวลาในการเก็บเกี่ยวประมาณ 3 เดือน สามารถเกี่ยวได้ ทั้งช่วงเช้าและบ่าย แต่การเก็บเกี่ยวในช่วงบ่ายไม่ค่อยเป็นที่นิยม เนื่องจาการระคายเคืองจากขนของกระเจี๊ยบเขียว  โดยการใช้ตัดทีละฝักตัดที่ขั้วให้เหลือก้านประมาณ 1  เซนติเมตร
 การเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว
1. เมื่อกระเจี๊ยบเขียวอายุได้ 40 วันจะเริ่มออกดอก หลังจากดอกบาน 5 วัน จะสามารถเก็บเกี่ยวได้
2. ต้องเก็บกระเจี๊ยบเขียวทุกวัน ไม่ปล่อยฝักที่สามารถตัดได้ทิ้งไว้บนต้น เพราะฝักกระเจี๊ยบเขียวโตเร็วมาก
3. ในระหว่างเก็บเกี่ยวให้ตัดใบทิ้งครั้งละใบพร้อมกับการตัดฝักทุกครั้ง เพราะจำนวนใบที่มากเกินไปจะทำให้แสงแดดส่องไม่ถึงฝักล่าง ฝักจะมีสีซีด และยังเป็นการป้องกันการเป็นแหล่งของศัตรูพืช
4. ใช้มีดคมตัดขั้วทีละฝัก ตัดขั้วให้ตรง วางในภาชนะอย่างระมัดระวัง ไม่โยน
5. ใส่ถุงมือผ้าหรือถุงมือยางทุกครั้ง เพื่อป้องกันการระคายผิวหนัง
6. เมื่อเก็บเกี่ยวแล้ว รีบนำเข้าที่ร่ม การระบายอากาศดี
7. คัดแยกฝักที่ไม่ได้คุณภาพออก 
ลักษณะประจำพันธุ์แม่โจ้ 49 และ แม่โจ้ 70 ปี 
แม่โจ้ 49
แม่โจ้ 70 ปี
- ทนทานโรคเส้นใบเหลือง
-อายุการออกดอก  42-45 วัน
- ข้อที่ออกดอกแรก  ข้อที่  5
-ความสูงเฉลี่ยเมื่อดอกแรกบาน 80 เซนติเมตร
- ความสูงเฉลี่ยเมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตครั้งสุดท้าย  216.26  เซนติเมตร
- จำนวนกิ่งแขนงต่อต้น   4 – 5  กิ่ง
- จำนวนฝักเฉลี่ยต่อต้น  100-110 ฝัก
- น้ำหนักฝักเฉลี่ยต่อต้น 1,076  กรัม
- น้ำหนักเฉลี่ยต่อไร่  4,735 กิโลกรัมต่อไร่
 - ลักษณะใบเป็นสามแฉก โปร่ง
- ทนทานโรคเส้นใบเหลือง
-อายุการออกดอก  55-58 วัน
- ข้อที่ออกดอกแรก  ข้อที่  6
-ความสูงเฉลี่ยเมื่อดอกแรกบาน 70  เซนติเมตร
- ความสูงเฉลี่ยเมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตครั้งสุดท้าย  125 เซนติเมตร
- จำนวนกิ่งแขนงต่อต้น   4 – 5  กิ่ง
- จำนวนฝักเฉลี่ยต่อต้น 70 - 100 ฝัก
- น้ำหนักฝักเฉลี่ยต่อต้น 763.8  กรัม
- น้ำหนักเฉลี่ยต่อไร่ 3,360 กิโลกรัมต่อไร่
 -ลักษณะใบเป็นสามแฉกทึบ
 ลักษณะเด่นของพันธุ์ แม่โจ้ 70 ปี
กระเจี๊ยบเขียวพันธุ์ แม่โจ้ 70 ปีเป็นพันธุ์ที่ทนทานโรคเส้นใบเหลืองอันเกิดจากเชื้อไวรัส    ฝักมีสีเขียวสม่ำเสมอ มี  5  เหลี่ยม  ซึ่งตรงกับความต้องการของตลาดเพื่อการส่งออก  ทรงต้นเตี้ย เป็นพุ่มกะทัดรัด ทำให้เก็บเกี่ยวง่าย

พันธุ์ แม่โจ้ 70 ปี พันธุ์ แม่โจ้ 49
ลักษณะเด่นของพันธุ์ แม่โจ้ 49
พันธุ์ แม่โจ้ 49 เป็นพันธุ์ที่ทนทานโรคเส้นใบเหลืองอันเกิดจากเชื้อไวรัส    ฝักมีลักษณะ 5 เหลี่ยม  สีเขียวเข้ม  ซึ่งเป็นลักษณะคุณภาพของฝักที่เหมาะสมกับการส่งออก  อายุการออกดอกเร็ว  ความสูงปานกลาง  ทรงต้นโปร่ง  ใบเป็นแฉกลึก  ซึ่งเป็นผลดีต่อการได้รับแสง  ทำให้ฝักมีสีเขียวเข้ม  และง่ายต่อการเก็บเกี่ยว
สรรพคุณทางยา
    กระเจี๊ยบเขียว เป็นพืชที่มีคุณสมบัติในการช่วยรักษาโรคกระเพาะอาหารและลำไส้ เพราะในฝักกระเจี๊ยบนั้นมีสารเมือกพวกเพ็กติน (Pectin) และกัม (Gum) ช่วยเคลือบแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ไม่ให้ลุกลาม รักษาความดันให้เป็นปกติ เป็นยาบำรุงสมอง มีสรรพคุณเป็นยาระบายและสามารถแก้โรคพยาธิตัวจี๊ดได้ด้วย แต่ต้องรับประทานติดต่อกันเป็นเวลาอย่างน้อย15วัน

    คนไม่เคย รับประทาน ฝักกระเจี๊ยบเขียว อาจจะ รับประทานไม่เป็น รับประทานยากกันสักหน่อย คนสมัยก่อน ชอบเอาไป ต้ม หรือ ต้มราดกะทิสด กินกับ น้ำพริกกะปิ ปลาทู รสชาติ กรอบหวานอร่อยมาก แต่ที่หลาย ๆ คนออกจะไม่ชอบ กระเจี๊ยบเขียว เพราะ ฝักของมัน ข้างในจะมี ยางเมือก ๆ หุ้มเมล็ดอยู่ ทำให้ พิอักพิอ่วน หากคนไม่ชอบ แต่หารู้ไม่ว่า นั่นเป็นสิ่งมีประโยชน์เหลือคณานับ ของกระเจี๊ยบเขียวเลยทีเดียว
    รับประทานฝักกระเจี๊ยบ 10 -15 ฝัก ตอนเย็นหรือก่อนนอน สามารถ ลดอาการท้องผูก
    รับประทาน 3 – 5 ฝัก ก่อนอาหาร ทุกวัน สามารถ รักษา แผลในกระเพาะอาหาร
    รับประทาน 10 – 15 ฝัก ทุกวัน สามารถ บำรุงตับ
    รับประทาน 5 ฝัก ก่อนอาหาร 3 มื้อ ติดต่อกันทุกวัน สามารถ กำจัด พยาธิตัวจี๊ด
    รับประทาน 30 – 40 ฝัก ตอนเย็น หรือ ก่อนนอน สามารถ ดีท็อกซ์ลำไส้ อุจจาระตกค้าง
    รับประทานสม่ำเสมอ เป็นเส้นใยอาหารธรรมชาติ มีแคลเซียม และ วิตามินสูง
    รับประทานประจำ มี โฟเลต สูง ช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง บำรุงสมอง และ พัฒนาการ ทารก
    ใน ครรภ์
     40 ฝักแห้ง มีโฟเลต เทียบเท่าที่คนต้องการในหนึ่งวัน 10 ฝัก มีโฟเลต เท่ากับ 25% ของความต้องการในหนึ่งวัน

ท่านผู้อ่านท่านใดสนใจต้องการซื้อเมล็ดพันธุ์และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ฉันทนา วิชรัตน์ สาขาพืชผัก ภาควิชาพืชสวน คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โทร. 053-873380 ในวันและเวลาราชการ

นำเสนอข่าวโดย
ฝ่ายส่งเสริมการเกษตร  สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร  มหาวิทยาลัยแม่โจ้  โทร. 053-873938-9ใช้เป็นอาหาร
ใบอ่อน ยอดอ่อน ผลอ่อนสีเขียว นำมาแกงส้มใส่ผักหลายชนิดรวมกัน นำมาต้มส้ม มีรสออกเปรี้ยว ดอกอ่อนนิยมต้มกินเป็นผักจิ้มน้ำพริกกะปี น้ำพริกปล้าร้า น้ำพริกปลาทูและน้ำพริกอื่น ๆ บางท้องถิ่นนิยมเผาผลอ่อนกินเป็นผักจิ้มน้ำพริก เวลาประกอบอาหารควรล้างให้สะอาดก่อนจะตัดหรือหั่น หั่นแล้วจะมีเมือกลื่นออกมามาก ล้างออกยาก

น้ำพริกกะปิ
เครื่องปรุง
กะปิเผาไฟพอหอม     2 ช้อนโต๊ะ
กระเทียมปอกแล้วหั่นหยาบ ๆ     1 ช้อนโต๊ะ
กุ้งแห้งป่น     1/2 ช้อนโต๊ะ
น้ำตาล     3 ช้อนโต๊ะ
พริกขี้หนูเด็ดก้านล้างสะอาด     1 ช้อนชา
มะอึกสุกไม่งอมหั่นฝอย 1 ช้อนโต๊ะ น้ำมะนาว 3 ช้อนโต๊ะ มะเขือพวงหรือมะเขือเปราะซอยเล็กน้อย (บางท่านไม่ชอบก็ไม่ต้องใส่)
วิธีทำ
1. โขลกกะปิกับกระเทียมให้ละเอียดใส่กุ้งแห้งโขลกรวมกัน ใส่พริกขี้หนู มะอึก มะเขือพวงหรือมะเขือเปราะบุบพอเข้ากันได้ ปรุงรสด้วยมะนาว น้ำปลา น้ำตาล ชิมรสตามชอบ2. รับประทานกับกระเจ๊ยบลวก เผา หรือย่างก็ได้ การแนมผักนิยมใช้ปลาทูนึ่งทอดปลาช่อนทอดหรือปลาดุกย่างก็ได้

ยำกระเจี๊ยบเขียว
ครื่องปรุง
กระเจี๊ยบเขียว     1/2 กก.
ไข่ไก่     2 ฟอง
น้ำปลาดี     2 ช้อนโต๊ะ
หอมแดง     3 หัว
กุ้งสด    2 ขีด
มะนาว     2 ผล
พริกขี้หนูบุบ    10 เม็ด
วิธีทำ
1. กระเจี๊ยบล้างน้ำ ย่างไฟอ่อนประมาณ 10 นาที ตัดขั้วฉีกเป็นชิ้น ๆ
2. กุ้ง ไข่ไก่ต้มให้สุกปอกเปลือก หั่นตามชอบ
3. มะนาวล้างน้ำผ่าบีบน้ำ ผสมน้ำผสมพริกขี้หนูทุบ
4. หอมแดงปอกเปลือก ล้างน้ำ ซอยบาง ๆ ผสมกับกระเจี๊ยบ กุ้ง ผสมกับน้ำปรุงรส ชิมรสตามชอบ จัดใส่จานแต่งหน้าด้วยไข่ต้ม รับประทานได้

แกงกะหรี่ปลาใส่กระเจี๊ยบเขียว
เครื่องปรุง
ผงกะหรี่     1/4 ถ้วย
น้ำมันพืช    1/4 ผ ถ้วย
มะพร้าว     1/2 กก.
น้ำมะขามเปียก     1/2 ถ้วย
ปลาอินทรีสด     4 ชิ้น
หอมซอย     1/4 ถ้วย
ขิงแก่โขลกละเอียด     2 ช้อนโต๊ะ
เกลือป่น     1 ช้อนชา
กระเจี๊ยบเขียว     20 ฝัก
มะเขือเทศสีดา     6 ผล

วิธีทำ
1. ปลาอินทรีล้างให้สะอาดเคล้าเกลือพักไว้
2. กระเจี๊ยบเขียวล้างให้สะอาด ตัดขั้วออก แล้วตัดเป็น 2 ท่อน
3. คั้นมะพร้าวใส่น้ำ 3 ถ้วย คั้นให้ได้กะทิ 4 ถ้วย ยกขึ้นตั้งไฟพอเดือด
4. นำกระทะตั้งไฟให้ร้อนแล้วเอาหอมที่ซอยและขิงลงผัดให้หอม ใส่ผงกะหรี่ผัดให้เข้ากันและหอมทั่วกันดี ตักใส่หม้อกะทิ
5. ยกหม้อกะทิขึ้นตั้งไฟให้เดือด ใส่กระเจี๊ยบและมะเขือเทศ พอกระเจี๊ยบสุก ปรุงรสด้วยเกลือป่นและน้ำมะขามเปียก ชิมรสตามชอบ พอเดือดใส่ปลาสุกทั่วกันดี ยกลงตักเสริฟได้

ผัดเมล็ดกระเจี๊ยบเขียว
เครื่องปรุง
เมล็ดกระเจี๊ยบเขียว     3/4 ถ้วย
ต้นหอมหั่นเป็นท่อน ๆ    1 ต้น
กุ้งสด     1 ขีด
พริกไทยกระเทียมโขลก     1/2 ช้อนโต๊ะ
น้ำปลา     1 ช้อนโต๊ะ
พริกอ่อนเขียว แดงหั่นเฉลียง    3 เม็ด
หัวหอมแดง     2 หัว
น้ำมันพืช     1 1/2 ช้อนโต๊ะ
น้ำตาลทราย     1 ช้อนโต๊ะ
วิธีทำ
1. พริกไทยกระเทียม โขลก เจียวให้หอม กุ้งลงผัดพอสุก
2. ใส่พริกอ่อน หอมซอย เมล็ดกระเจี๊ยบผัดพอสุก ปรุงรส
3. ใส่ต้นหอม

กระเจี๊ยบเขียวชุบแป้งทอด
เครื่องปรุง
กระเจี๊ยบเขียวฝักเล็ก 2 ขีด
แป้งสำหรับชุบ 1 ถ้วยตวง
น้ำมันสำหรับทอด 2 ถ้วยตวง
น้ำบ๊วย ฝ ถ้วยตวง
พริกแดง 3 เม็ด ผสมกัน

วิธีทำ
1. กระเจี๊ยบล้างน้ำให้สะอาด ผึ่งให้สะเด็ดน้ำ
2. ผสมแป้งกับน้ำให้เข้ากัน ตามสลากของห่อแป้ง
3. พอเหลืองตักขึ้น เสริฟขณะร้อน ๆ จิ้มกับน้ำจิ้มบ๊วยที่ผสมไว้

แกงส้มกระเจี๊ยบเขียว
เครื่องปรุง
พริกแห้ง     3 เม็ด
กระเทียม     1 หัว
ปลาช่อน     1 ตัว
ดอกคะน้า     1 ดอก
เกลือ
หอมแดง     5 หัว
กะปิ    1 ช้อนชา
กระเจี๊ยบเขียว     3 ขีด
มะดัน     4 ผล
น้ำปลา
วิธีทำ
1. โขลกพริกแห้ง หอม กระเทียม กะปิ ให้ละเอียดเป็นเครื่องแกง
2. ปลาช่อนแบ่งครึ่ง ด้านหัว ต้มให้สุกแกะเอาแต่เนื้อโขลกลงไปกับข้อที่ 1
3. ด้านหางหั่นตามขวางลำตัวเป็นชิ้น ๆ หนาประมาณ 1 กระเบียดพักไว้
4. เครื่องแกงละลายกับน้ำเปล่า 4 ถ้วย ตั้งไฟใส่มะดัน เกลือ น้ำปลาให้เดือด เอามะดันขึ้นมาละลายเอาเมล็ดออก ชิมรสใส่ปลาด้านหางลงไปพอสุก
5. กระเจี๊ยบ ดอกคะน้า ล้างน้ำให้สะอาด หั่นชิ้นพองาม ใส่ลงไปในหม้อพอสุกยกลงเสริ์ฟขณะยังร้อนอยู่

แกงเลียงกระเจี๊ยบเขียว
เครื่องปรุง
พริกไทยเม็ด     20 เม็ด
หอมแดง     5 หัว
กุ้งแห้งปุ่น     3 ช้อนโต๊ะ
กระเจี๊ยบเขียว     3 ขีด (หั่นเป็นท่อนๆ)
กระชาย    3 แง่ง
กะปิดี     1 ช้อนโต๊ะ
กุ้งสด     1 ขีด
ใบแมงลัก    2 ต้น
เกลือ    1 ช้อนชา
วิธีทำ
1. โขลกพริกไทย กระชาย หอมแดง กะปิ กุ้งแห้ง เกลือ ให้ละเอียด
2. ละลายน้ำแกง ตั้งไฟพอเดือด ใส่น้ำปลา ใส่กุ้ง ใส่กระเจี๊ยบให้เดือดอีกครั้ง ยกลงใส่ใบแมงลัก รับประทานขณะยังร้อนอยู่

แกงจีดกระเจี๊ยบเขียวยัดไส้
เครื่องปรุง
กระเจี๊ยวเขียว     3 ขีด
หมูสับหรือปลาสับ     2 ขีด
รากผักชี กระเทียม พริกไทยโขลกละเอียด     1 ช้อนโต๊ะ
กระเทียมเจียว     1 ช้อนโต๊ะ
น้ำปลาดี     1 ช้อนโต๊ะ
ใบผักชี     1 ช้อนโต๊ะ
วิธีทำ
1. หมูสับหรือปลาสับ ผสมรากผักชี กระเทียม พริกไทย โขลกให้เข้ากัน ใส่น้ำปลาดีหรือซอสปรุงรส หมักไว้สักครู่
2. นำกระเจี๊ยบเขียวหั่นเป็นท่อนขนาดพอคำ เอาเมล็ดออก นำหมูหรือปลา ข้อ 1 ยัดไส้
3. ต้มน้ำซุปปรุงรสให้ดี พอเดือด นำกระเจี๊ยบที่ยัดไส้ใส่ลงไปพอเดือดยกลง โรยผักชี

ห่อหมกกระเจี๊ยบเขียว
เครื่องปรุง
พริกแห้ง     5 เม็ด กระเจี๊ยบเขียวยาง 3 ขีด
กระเทียม     3 หัว หัวกะทิ 2 ถ้วย
ตะไคร้     1 ต้น พริกชี้ฟ้าสีแดงหั่นฝอย 1 ช้อนโต๊ะ
กะปิ     1 ข้อนชา กระทงใบตอง
เกลือป่น     1 ช้อนชา หอมแดง 2 หัว
ข่า     1 แว่น กุ้งสด 2 ขีด
ผิวมะกรูดหั่นฝอย     1 ช้อนชา ใบโหระพาเด็ด 1 ถ้วย
รากผักชี     1 ต้น ใบมะกรูดหั่นฝอย 1 ช้อนโต๊ะ
ไข่ไก่     1 ฟอง
วิธีทำ
1. โขลกเครื่องแกงให้ละเอียด กุ้งสับไม่ต้องละเอียดมาก (9รายการแรก)
2. นำเครื่องกะทิกับหัวกะทิ ฝ ถ้วย คนให้เข้ากัน ใส่กุ้งสับระหว่างที่คนค่อย ๆ เติมกะทิไปเรื่อย ๆ จนหมด ฝ ถ้วย ใส่เกลือ น้ำตาลทรายนิดหน่อยใส่ใบมะกรูดหั่นฝอย คนต่อไปจนข้น
3. นำกระเจี๊ยบเขียวที่เตรียมไว้ ใบโหระพาเด็ดรองกันกระทง ตักส่วนผสมที่เตรียมไว้ใส่ลงไปค่อนกระทง
4. นำไปนึ่งประมาณ 10 นาที ราดด้วยหัวกะทิ โรยผักชี พริกแดง นำไปนึ่งอีก 2 นาที รับประทานได้

กระเจี๊ยบเขียวผัดผงกะหรี่
เครื่องปรุง
กระเจี๊ยบเขียวหั่นเป็นท่อน ๆ ลวกน้ำให้สุกประมาณ     15 ฝัก
ไก่น่องเล็ก 5 น่อง (หมักกับผงกะหรี่ ซอสปรุงรส)
กุ้งสด     1 ขีด
หอมใหญ่     1 หัว
มะเขือเทศผลเล็ก     10 หัว
ผงกะหรี่     1/2 ช้อนโต๊ะ
แป้งสาลี     1 ช้อนโต๊ะ
น้ำปลา น้ำตาล น้ำมันสำหรับผัด กระเทียม
วิธีทำ
1. ผักกระเทียมเจียวให้หอมเอาไก่หมักลงไปผัดพอไก่สุก ใส่กุ้งผัดจนสุก
2. ปรุงรส เค็ม เปรี้ยว หวานตาม ละลายแป้งใส่ลงไปให้น้ำพอขลุกขลิก
3. ใส่มะเขือเทศ หอมใหญ่ กระเจี๊ยบเขียว ลงผัดพอสุก เสิร์ฟขณะร้อนๆ

กระเจี๊ยบเขียวผัดขิงอ่อนเครื่องปรุง
กระเจี๊ยบหั่นเป็นท่อนลวกน้ำพอสุก     15 ฝัก
ขิงอ่อนหั่นฝอย    2 ขีด
กระเทียม     1 หัว
ต้นหอมหั่นเป็นท่อน     2 ต้น
ผักชีเด็ด     1 ต้น
เนื้อไก่หั่น     2 ขีด
พริกแดง     2 เม็ด
น้ำมัน    1 ช้อนโต๊ะ
น้ำปลา น้ำตาลทราย
วิธีทำ
1. เจียวกระเทียมพอหอมใส่เนื้อไก่ลงไปผัดให้สุก ปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำตาล ชิมรสตามชอบ
2. ใส่ขิงลงไปผัดพอสุกใส่กระเจี๊ยบที่เตรียมไว้ พริกแดง คนให้เข้ากัน ยกลง ใส่ต้นหอม คนให้เข้ากันตักใส่จานโรยผักชี

สลัดกระเจี๊ยบเขียว
เครื่องปรุง
กระเจี๊ยบเขียวหั่นเป็นท่อนลวกให้พอสุก     1/2 ถ้วยตวง
มันฝรั่งหั่นเป็นสี่เหลี่ยมลูกเต๋าต้มให้สุก     1/2 ถ้วยตวง
แครอทเช่นเดียวกับมันฝรั่งต้มให้สุก     1/2 ถ้วยตวง
ไข่ไก่     1 ฟอง
พริกไทยป่น     1/2 ช้อนชา
น้ำตาลทรายป่น     2 ช้อนโต๊ะ
น้ำมันสลัด หรือน้ำมันพืช     1/2 ถ้วยตวง
เกลือป่น     1 ช้อนชา
น้ำมะนาว     2 ช้อนโต๊ะ
วิธีทำ
1. ตีไข่ให้ขึ้น ค่อย ๆ หยอดน้ำมันสลัด ตีไปเรื่อย ๆ จนเข้ากันดี
2. ผสมน้ำมะนาว เกลือ น้ำตาลทราย ให้เข้ากัน
3. นำข้อ 1 และข้อ 2 ผสมกันให้เป็นเนื้อเดียวกันเป็นใช้ได้
4. จัดผักที่เตรียมไว้ ราดด้วยน้ำสลัด รัปบระทานได้

กระเจี๊ยบต้มกะทิปลาสลิด
เครื่องปรุง
กระเจี๊ยบหั่นเป็นท่อนลวกพอสุก     1 ถ้วยตวง
ปลาสลิด     2 ตัว
กะปิดี     1 ช้อนโต๊ะ
น้ำปลา     2 ช้อนโต๊ะ
มะขามเปียก     2 ช้อนโต๊ะ
กะทิ     1 1/2 ถ้วยตวง
หอมแดง     5 หัว
น้ำตาล     1 ช้อนโต๊ะ
วิธีทำ
1. โขลกพริกไทย กะปิ หอมแดง ให้ละเอียด
2. ปลาสลิดล้างน้ำตัดครีบออก หั่นเป็น 2 ชิ้น
3. ละลายเครื่องแกงกับกะทิตั้งไฟให้พอเดือด ใส่ปลาสลิด ใส่น้ำปลา พอปลาสลิดสุกใส่น้ำตาล น้ำมะขามเปียก ชิมรสตามชอบ

ชากระเจี๊ยบเขียว
เครื่องปรุง
กระเจี๊ยบเขียวหั่นฝอยตากแห้ง     3 ส่วน
มะลิลาตากแห้ง     1 ส่วน
ใบชาตากแห้ง     1/2 ส่วน




วิธีทำ
1. นำกระเจี๊ยบเขียวหั่นฝอยตากแห้งแล้ว มาคั่วให้เหลืองหอม
2. นำมะลิลาตากแห้ง ใบชาตากแห้ง มาผสมเข้ากับข้อ 1
3. เก็บในกล่อง โหล ถุงพลาสติก ปิดให้มิดชิด
4. เวลาจะรับประทาน นำมาชงกับน้ำร้อน ใช้ดื่มแก้กระหายและยังให้คุณค่าทางอาหารสูงอีกด้วย
วิธีประกอบอาหารเพื่อลดเมือกของกระเจี๊ยบเขียว

ดัง ได้กล่าวมาแล้วว่าเมือกลื่นของกระเจี๊ยบเขียวนั้น มีประโยชน์เพราะจะช่วยหล่อลื่น ฉาบ เคลือบ และบรรเทาอาการระคายเคืองของเนื้อเยื่อที่อักเสบ คนโบราณจึงใช้กินเป็นยาบรรเทาอาการปวดท้องได้ในรายที่เยื่อบุกระเพาะอาหาร หรือลำไส้อักเสบ อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยไม่นิยมบริโภคกระเจี๊ยบเขียวเพราะรังเกียจเมือก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย ฉะนั้นเมื่อจะนำกระเจี๊ยบเขียวมาประกอบอาหารอาจหาทางลดเมือกให้เหลือน้อยลง ก็จะเป็นการส่งเสริมให้มีผู้นำมาสนใจบริโภคกระเจี๊ยบเขียวมากขึ้นได้ทาง หนึ่ง
การที่จะประกอบอาหารจากกระเจี๊ยบเขียวให้ลดเมือกนั้นก็ขึ้นอยู่ว่าเราจะนำไปทำอะไร ดังนี้
วิธีที่ 1 การนำกระเจี๊ยบเขียวมาแกงไม่ว่าจะเป็นแกงส้ม แกงเลียง แกงจืดก็ตาม ต้องต้มน้ำแกงให้เดือดพล่านเสียก่อนจึงใส่กระเจี๊ยบเขียว พอสุกเรีบยกลง อย่าเคี่ยวนาน
วิธีที่ 2 ถ้าจะนำไปผัด ควรลวกให้พอสุกเสียก่อน เวลาลวกใส่เกลือลงไปเล็กน้อย นอกจากจะช่วยลดเมือกได้แล้วยังช่วยรักษาสีของกระเจี๊ยบเขียวให้เขียว เมื่อนำไปผัดก็น่าจะรับประทานมากขึ้น 
วิธีที่ 3 นำกระเจี๊ยบมาตัดตามขวางแล้วแช่ในน้ำปูนประมาณ 10 นาที ล้างน้ำปูนออกแล้วลวกให้น้ำเดือดอีกครั้ง จึงนำไปประกอบอาหารตามต้องการ
--------------------------------------

ที่ปรึกษา : สมชาย สุคนธสิงห์, อำถา ตันติสิระ
ผู้จัดทำ :     เฉลิมเกียติ โภคาวัฒนา, ภัสรา ชวประดิษฐ์
อาหารและสถานที่ :     สุดา สมันตรัฐ, สวง ม่วงเกษม, สำนักงานเกษตรกรุงเทพมหานคร, สำนักงานเกษตร เขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร
ถ่ายภาพ : สมเนตร เกษสังข์
กลุ่มพืชผัก กองส่งเสริมพืชสวน กรมส่งเสริมการเกษตร

แกงส้มกระเจี๊ยบ ยอดฟักทอง
ส่วนผสม
กระเจี๊ยบเขียวหั่นประมาณ  1  ถ้วย
ยอดฟักทองประมาณ  200  กรัม
น้ำพริกแกงส้ม  1 1/2  ถ้วย
กุ้งสด  200  กรัม
น้ำเปล่า  2-3  ถ้วย
น้ำส้มมะขาม  1/2  ถ้วย
น้ำตาลปึก  2  ช้อนโต๊ะ
น้ำปลา  1/4  ถ้วย
ส่วนผสมเครื่องแกงส้ม    
พริกแห้งเม็ดใหญ่  5  เม็ด
พริกแห้งเม็ดเล็ก (ถ้าชอบเผ็ด)ประมาณ  10  เม็ด
กระเทียมหั่นหยาบ  2  ช้อนโต๊ะ
หอมเล็กหั่นหยาบ  1/4  ถ้วย
กะปิ  1  ช้อนโต๊ะ
เกลือเล็กน้อย    
วิธีทำ
1.ตำพริกแห้งเม็ดเล็ก เม็ดใหญ่กับเกลือพอหยาบ ๆ ใส่กระเทียม หอมเล็ก  ตำทั้งหมดให้ละเอียดแล้วจึงใส่กะปิตำให้เข้ากัน
2.ต้มกุ้งในน้ำเดือดประมาณ 3/4 ถ้วย ตำรวมกับพริกแกง  ละลายเครื่องแกงในน้ำตั้งไฟพอเดือด ปรุงรสด้วยน้ำส้มมะขาม น้ำตาลปึก น้ำปลาให้เข้มข้น พอเดือดใส่กระเจี๊ยบต้มพอสุกแล้วจึงใส่ยอดฟักทอง กุ้งสด ต้มจนเดือด ชิมรสอีกครั้ง
ขอบคุณที่มา : นิตยสาร Health & Cuisine ศูนย์รวมสูตรอาหาร : ThaiBizCenter.com

ซีแง
ชาวมุสลิมจังหวัดนราธิวาส นำกระเจี๊ยบเขียวมาประกอบอาหารเรียกว่า “ซีแง” เป็นแกงชนิดหนึ่งที่คนรุ่นยายชอบ ปัจจุบันอาหารประเภทนี้ไม่ค่อยนิยมเท่าไหร่นัก ทั้งที่เป็นอาหารที่ทรงคุณค่าทางโภชนาการ
ส่วนผสม กระเจี๊ยบเขียว ๗ ฝัก หั่นยาว ๑ นิ้ว หอมแดง ๓ หัว กระเทียม ๒ หัว ข่าอ่อน ๓-๔ แว่น พริกสดตามชอบ ส้มแขก ๒-๓ แว่น เกลือ
วิธีทำ ใส่น้ำครึ่งหม้อ ต้มให้เดือด ใส่หอมแดง กระเทียม ข่าอ่อน ส้มแขก กระเจี๊ยบเขียว เกลือ ใส่พริกสดลงไป ต้มให้เปื่อยเล็กน้อย ได้ที่ยกลง
เคล็ดลับ เพื่อไม่ให้กระเจี๊ยบเป็นเมือก ให้หั่นกระเจี๊ยบใส่ในหม้อในขณะน้ำเดือด

อุ๊บหมากนอยต้น
ส่วนผสม ผลกระเจี๊ยบมอญ ๕ ฝัก หอมแดง ๓ หัว กระเทียม ๑ หัว มะเขือเทศ ๒ ผล ถั่วเน่า พริกขี้หนู ๓ เม็ด เกลือ ผงชูรส
วิธีทำ เอาหอมแดง กระเทียม มะเขือเทศ พริกขี้หนู มาอุ๊บในกระทะ ปรุงรสด้วยเกลือ ผงชูรส ใส่ถั่วเน่า เคี่ยวอุ๊บให้สุกและเครื่องเข้ากัน แล้วค่อยเอากระเจี๊ยบมอญใส่ โดยล้างให้สะอาดก่อนแล้วค่อยหั่นเป็นท่อน (ห้ามหั่นแล้วค่อยล้าง และห้ามอุ๊บนาน) ใส่ลูกกระเจี๊ยบลงไป ให้พอสุก ประมาณว่าสุกๆ ดิบๆ ตักรับประทานได้เลย ไม่นิยมทำให้กระเจี๊ยบมอญสุกมากๆ เพราะรสชาติจะไม่ค่อยดี

ขอบคุณข้อมูลจาก หน่วยปฏิบัติการวิจัยเคมีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์คุณประโยชน์

ผลกระเจี๊ยบมอญมีสารกลูตาไธโอน (glutathione) ช่วยต้านอนุมูลอิสระและป้องกันการเกิดมะเร็ง มีสารเมือกลื่นเส้นใยสูงช่วยระบบขับถ่ายให้เป็นปกติ แก้ปัญหาท้องผูก มีผลช่วยลดอาการหวัดซึ่งจะได้ผลเมื่อกินสด แคลเซียมสูงช่วยบำรุงกระดูกและฟัน สรรพคุณทางยา ผลแห้งตำบดละเอียดชงกับน้ำร้อนดื่มแก้โรคแผลในกระเพาะอาหาร

กองโภชนาการ กรมอนามัยให้ข้อมูลว่าฝักกระเจี๊ยบมอญ 100 กรัม มีพลังงาน 31 กิโลแคลอรี ไขมัน 0.1 กรัม คาร์โบไฮเดรต 7.6 กรัม โปรตีน 1.8 กรัม เส้นใย 0.9 กรัม แคลเซียม 90 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 47 มิลลิกรัม เหล็ก 1.0 มิลลิกรัม วิตามินเอ 233 หน่วย วิตามินบี 10.07 มิลลิกรัม วิตามินบี 2 0.08 มิลลิกรัม วิตามินซี 18 มิลลิกรัม ไนอาซีน 0.8 มิลลิกรัม
ข้อมูลจากหนังสือ "อนุกรมวิธานพืช" ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช 2538 กล่าวถึงประโยชน์ของกระเจี๊ยบมอญไว้หลายประการ เช่น ฝักอ่อนมีคุณค่าทางอาหารสูงกินได้ ในต่างประเทศบรรจุเป็นอาหารกระป๋องหรืออาหารแช่แข็ง เมล็ดแก่มีน้ำมันมาก กากเมล็ดมีโปรตีนเหมาะสำหรับใช้เลี้ยงสัตว์ เส้นใยจากต้นใช้ทำเชือกและกระดาษ นอกจากนี้โรงงานผลิตน้ำตาลบางแห่งในอินเดียยังนำเมือกจากต้นมาใช้ในกระบวนการทำให้น้ำอ้อยสะอาด สำหรับการใช้ประโยชน์ทางยาแผนโบราณของจีน ราก เมล็ด และดอกใช้เป็นยาขับปัสสาวะ

ต้นกระเจี๊ยบมอญ กระเจี๊ยบเขียว

กระเจี๊ยบมอญเป็น พื้นเมืองประเทศเอทิโอเปีย ทวีปแอฟริกา อียิปต์ หมู่เกาะอินเดียตะวันตก และเอเชียใต้ ปัจจุบันปลูกมากทั้งในเขตร้อนและเขตอบอุ่น ส่วนใหญ่เพื่อเก็บเกี่ยวฝักกระเจี๊ยบอ่อนใช้กินเป็นผัก
ในต่างประเทศมีการกินใบกระเจี๊ยบสดเป็นผักสลัด หรือปรุงสุกเป็นผักชนิดหนึ่งก็ได้ เป็นส่วนประกอบของอาหารบราซิลที่มีชื่อเสียง ประกอบด้วยไก่กับใบกระเจี๊ยบกินกับข้าว
น้ำต้มรากใช้แก้ซิฟิลิส
น้ำคั้นรากใช้ในเนปาลเพื่อล้างแผลและแผลพุพอง
ใบอ่อนกินแทนผักขมได้
ใบตากแห้งป่นเป็นผงโรยอาหารได้และชูรสอาหาร แก้ปากนกกระจอก ขับเหงื่อ
ใบกระเจี๊ยบใช้เลี้ยงวัว ใช้ผสมสมุนไพรอื่นในการประคบลดการอักเสบปวดบวม ทำให้ผิวหนังชุ่มชื้นไม่แห้ง ตาดอกและดอกอ่อนรับประทานได้
เส้นใยเปลือกใช้ทำกระดาษ ลังกระดาษ ผลิตเชือก ผลิตเชือกตกปลา ตาข่ายดักสัตว์ และถักทอเป็นผ้าได้
รากก็กินได้แต่ค่อนข้างเหนียว
ชาวอียิปต์กินผลกระเจี๊ยบกับเนื้อสัตว์เป็นอาหาร หรือนำไปดอง
ประชาชน ในประเทศอียิปต์ เลบานอน อิสราเอล จอร์แดน อิรัก กรีซ ตุรกี และประเทศแถบเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออกอื่นๆ จะใช้ฝักกระเจี๊ยบมอญในการปรุงสตูว์ผักและสตูว์เนื้อน้ำข้น
ทางใต้ของสหรัฐอเมริกาใช้ผลอ่อนต้มสตูว์กับมะเขือเทศเรียกกัมโบ้
ทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย ชาวพื้นเมืองจะนำฝักกระเจี๊ยบมาผัดหรือใส่ในซ๊อสข้น
ชาวศรีลังกา ลวกฝักกระเจี๊ยบมอญกินเป็นผักสลัด
ชาวฟิลิปปินส์ กินฝักสด ย่างหรือใช้ประกอบอาหาร
ชาวญี่ปุ่นเริ่มปรุงอาหารด้วยฝักกระเจี๊ยบมอญโดยชุบแป้งเทมปุระทอดกินกับซีอิ้ว
ในต่างประเทศบรรจุเป็นอาหารกระป๋องหรืออาหารแช่แข็ง

ฝักอ่อน ดองกินได้ หั่นเป็นแว่นตากแห้งเก็บได้ หรือบดเป็นแป้งก็ได้ คนไทยลวกฝักอ่อนจิ้มน้ำพริก หรือใส่ในแกงส้ม
หั่นเป็นแว่นผัดกับกระเทียมและหอมใหญ่ เหยาะพริกไทยป่น
ฝักผล มีจำหน่ายทั้งสดและแช่แข็ง เมือกจากผลใช้เคลือบกระดาษให้มัน และใช้ในอุตสาหกรรมขนมหวาน
เมล็ดแก่ คั่วแล้วบดใช้แทนกาแฟในกลุ่มคนดำทางใต้ของสหรัฐอเมริกาแถบมลรัฐเซาต์แคโรไลน่า เมื่อคั่วให้ร้อนเมล็ดจะมีกลิ่นหอม ใช้ในแถบประเทศตะวันออกกลางในการแต่งกลิ่นกาแฟ และใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องหอม แป้งจากเมล็ดแก่บดใช้ทำขนมปังหรือเต้าหู้ได้
ในประเทศอินเดียใช้เมล็ดกระเจี๊ยบมอญไล่ผีเสื้อเจาะผ้า และบดผสมนมทาผิวหนังแก้คัน
เนื่อง จากฝักกระเจี๊ยบมอญมีเส้นใยมาก การกินฝักกระเจี๊ยบมอญช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่โดยรักษาระดับ การดูดซึมน้ำตาลจากลำไส้ใหญ่ให้คงที่ จึงเป็นผักที่เหมาะกับผู้ป่วยโรคเบาหวาน
นอกจากนี้การกินเส้นใยใน ฝักกระเจี๊ยบมอญยังช่วยลดคอเลสเตอรอลโดยการจับกับน้ำดีซึ่งมักจับสารพิษซึ่ง ร่างกายต้องการขับถ่ายที่ถูกส่งมาจากตับ สารเมือกในฝักมีส่วนช่วยการจับสารพิษนี้ การจับกับน้ำดีนี้เกิดในลำไส้และขับออกทางอุจจาระ จึงไม่เหลือสารพิษตกค้างในลำไส้
เส้นใยกระเจี๊ยบมอญกำจัดไขมันปริมาณสูงที่จับกับน้ำดี ได้ผลลดไขมันและคอเลสเตอรอล คล้ายกับการกินยาลดคอเลสเตอรอลและไขมันชื่อสแตติน
ฝักกระเจี๊ยบมอญต้มในน้ำเกลือกินแก้อาการกรดไหลย้อนกลับ
การ กินฝักกระเจี๊ยบมอญลดอาการแผลในกระเพาะอาหารดีเท่าๆ กับยา misoprotol ความเป็นด่างอ่อนๆ ของฝักกระเจี๊ยบมอญและเมือกลื่นช่วยลดกรดในกระเพาะอาหาร ทำได้โดยนำฝักกระเจี๊ยบมอญตากแห้ง บดให้ละเอียด กินครั้งละ ๑ ช้อนโต๊ะ วันละ ๓-๔ เวลา หลังอาหารแล้วดื่มน้ำตาม
เส้นใยฝักกระเจี๊ยบมอญในลำไส้ใหญ่ช่วยสนับสนุนการขยายพันธุ์ของแบคทีเรียที่มีคุณค่า (โพรไบโอติกแบคทีเรีย) จึงช่วยระบบขับถ่าย ระบบดูดซึมสารอาหาร ลดความเสี่ยงโรคแผลในกระเพาะอาหาร มะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งลำไส้ใหญ่อีกด้วย กินวันละ ๖ ฝักก็จะเห็นผล
ฝักกระเจี๊ยบ มอญมีคุณสมบัติที่เป็นเมือกลื่น ในประเทศอินเดียใช้เป็นยาให้ดื่มน้ำต้มฝักกระเจี๊ยบมอญเพื่อขับปัสสาวะเมื่อ มีอาการกระเพาะปัสสาวะและทางเดินปัสสาวะอักเสบ เมื่อติดเชื้อโกโนเรีย และเมื่อปัสสาวะขัด
ยาแผนโบราณของจีน ราก เมล็ด และดอกใช้เป็นยาขับปัสสาวะ
ผลแห้งนำมาป่นเป็นผงใช้รับประทานแก้โรคแผลในกระเพาะเพราะมีสารช่วยเคลือบกระเพาะอาหาร
เมล็ดอ่อนๆ ในฝักนำมาปรุงเป็นอาหาร แทนถั่วรับประทานกับขนมปังก็อร่อยดี
แก้พยาธิตัวจิ๊ด โดยเอาผลกระเจี๊ยบมอญที่ยังอ่อนมาปรุงเป็นอาหารกิน เช่น ต้มหรือย่างไฟให้สุก จิ้มกับน้ำพริกหรือทำแกงส้ม แกงเลียง กินวันละ ๓ เวลาทุกวัน กินติดต่อกันอย่างน้อย ๑๕ วัน วันละ ๔ - ๕ ผล แต่บางคนต้องกินเป็นเดือนจึงจะหาย
มีข้อห้าม
เวลาต้มต้องให้สุกจริงๆ ถ้าไม่สุกจะเหม็นเขียว กินแล้วจะเป็นอันตรายเกิดการเบื่อเมาได้
อ้างอิง

http://www.doctor.or.th/node/1186
kanchanapisek.or.th/kp8/cem/cem711b.html
Bloggang.com : เนเวอร์แลนด์
ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือ ผักพื้นบ้านไทย สมุนไพรต้านโรค
ขออนุญาตนำเผยแผ่ข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ของกระเจี๊ยบมอญ กระเจี๊ยบเขียว มารวบรวมไว้ ณ ที่นี้